Diary




ฮัก ณ หนองแคนดอนสนุก “ค่ายสร้างคน คนสร้างค่าย”

             ก่อนอื่นฉันขอบอกเล่าเรื่องราวที่มาของการร่วมอุดมการณ์นักกิจกรรมของฉัน ตั้งแต่เรียนปี 1-3   ฉันเคยเป็นผู้ร่วมค่ายและผู้รับผิดชอบค่ายในค่ายอื่นๆ มา 5-6 ค่ายแล้วในนามของ ชมรมคนวัยใสใส่ใจสุขภาพ แต่สำหรับการทำค่ายครั้งนี้ฉันเป็นผู้ดำเนินโครงการในนามของ กลุ่มกอไผ่ (กลุ่มอิสระ) ซึ่งเกิดจากอุดมการณ์ของนักกิจกรรมที่มีอุดมการณ์เดียวกันที่จะสานงานต่อ ก่องานเพิ่ม และเสริมสร้างสังคมให้น่าอยู่ จึงได้ปรึกษาหารือกับผองเพื่อนในชมรมคนวัยใสใส่ใจสุขภาพ และแยกตัวออกมาเพื่อสร้างกลุ่มนักกิจกรรมในการเป็นเด็กค่ายสร้างสุข ฉันและผองเพื่อนจึงได้ตัดสินใจเลือกเส้นทางนักกิจกรรมเพิ่มขึ้นมา แบบว่า “ความคิดแตกต่าง แต่ไม่เคยแตกแยก ยังรักกันเหมือนเดิมและจะรักตลอดไป คนวัยใสฯ”
            หมู่บ้านสองหมู่บ้านเล็กๆ ที่ลึกลงไปในอ้อมกอดแห่งชายทุ่ง ชาวบ้านที่อยู่อย่างเงียบสงบ มีชีวิตที่ไหลเอื่อยๆ ขนานด้วยท้องทุ่งนาสีเขียว นี่คือหมู่บ้านหนองแคน และดอนสนุก ต.สร้างนาขาว อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ที่ฉันและผองเพื่อนไปทำค่ายนั่น ณ โรงเรียนหนองแคนดอนสนุก ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนมาเรียนจาก 2 หมู่บ้าน มีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 88 คนซึ่งเป็นนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  มีครู จำนวน 5  คน  ชาย 2  คน  หญิง  2  คน  มีอาคารเรียน 2 หลัง  ห้องน้ำ 8 ห้อง ที่ทรุดโทรมมาก 4 ห้อง        ซึ่งหมู่บ้านทั้ง 2 หมู่บ้านนี้ได้ให้ลูกหลานมาเรียนที่โรงเรียนบ้านหนองแคนดอนสนุก  เพราะว่าเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้หมู่บ้านและสะดวกสบายต่อการเดินทาง  ซึ่งชาวบ้านก็มีการระดมเงินเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนในบางส่วนเนื่องจากว่ามีงบประมาณไม่เพียงพอต่อการสร้างอาคารเอนกประสงค์ และชาวบ้านมักจะมาประชุมที่โรงเรียนเป็นหลัก พื้นที่ไม่เพียงพอที่จะรองรับชาวบ้านเนื่องจากสภาพอาคารเอนกประสงค์มีขนาดเล็กและทรุมโทรม อาคารเอนกประสงค์ที่ยังไม่พร้อมที่จะใช้ในการทำกิจกรรม  เพราะว่าโครงสร้างของตัวอาคารก็ชำรุด  พร้อมทั้งสภาพแวดล้อมบริเวณโรงเรียนไม่เอื้อต่อการทำกิจกรรม  จึงทำให้เห็นว่าควรที่จะสร้างประโยชน์ให้กับทางโรงเรียนเพื่อที่จะใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น  กิจกรรมวันไหว้ครู  กิจกรรมวันเด็ก  เป็นต้น   เพื่อที่จะเอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพและการทำกิจกรรมภายในโรงเรียน  และห้องน้ำของทางโรงเรียนนั้นชำรุดไม่สามารถใช้งานได้จำนวน 4 ห้อง  อ่างล้างมือ ที่ดื่มน้ำของนักเรียนชำรุดทรุดโทรมมาก  อาจส่งผลต่อสุขภาพของนักเรียนได้ จึงทำให้เห็นว่าควรที่จะสร้างประโยชน์ให้กับทางโรงเรียนเพื่อที่จะให้เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพภายในโรงเรียนและอีกหนึ่งเหตุผลที่คิดว่าจะทำค่าย ณ แห่งนี้ คือ เป็นพื้นที่ที่มีมีปัญหาทางด้านสุขภาพมากพอสมควร  เช่น  ปัญหาการสูบบุหรี่และการดื่มสุรา ซึ่งปัญหานี้ทั้งสองหมู่บ้านก็ยังพบมาก  เนื่องมาจากการรับรู้ข่าวสารไม่เพียงพอ ไม่มีแกนนำป้องกันการสูบบุหรี่ ไม่มีการสร้างกระแสถึงโทษของการสูบบุหรี่และการดื่มสุรา  จึงทำให้ชาวบ้านไม่ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตนเองและบุคคลรอบข้าง  และก่อให้เกิดโรคอื่นๆตามมา  ชาวค่ายจึงได้ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างกระแสถึงโทษของการสูบบุหรี่ของชาวบ้านให้มากขึ้น  เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและรณรงค์ให้ชาวบ้านห่างไกลจากบุหรี่และสุรา และที่สำคัญเนื่องจากจังหวัดหนองคายมีชื่อเสียงเรื่องการเกิดบั้งไฟพญานาค ในวันออกพรรษา และเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ทางชาวค่ายจึงมีความต้องการที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวบ้านที่อยู่บริเวณนั้นเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องบั้งไฟพญานาค เนื่องจากมีความสนใจในเรื่องดังกล่าว เราจึงเห็นว่า “ที่นี่แหละ ใช่เลย”  ฉันจึงได้กำหนดวันทำค่ายในระหว่างวันที่ 10-16 มีนาคม 2554 โดยทำค่ายในรูปแบบบูรณาการ ซึ่งในความเข้าใจของฉันคือการผสมผสานระหว่างการสร้างและการเรียนรู้นั่นเอง ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิโกมลคีมทอง

                วันแรกของการทำค่าย (10 มีนาคม 54) ต่างรายล้อมด้วยความอบอุ่นจากพ่อฮักแม่ฮักที่มาเตรียมต้อนรับชาวค่ายที่เดินทางมาถึง สิ่งที่เป็นตัวแทนของการต้อนรับของคนอีสานที่ขาดไม่ได้คือ “การบายศรีสู่ขวัญ” พ่อฮักแม่ฮักต่างมาผูกข้อต่อแขนลูกฮักอย่างดีใจ เสียงร้องเรียกขวัญชาวค่าย “มาเด้อขวัญเอ้ย” ทำให้ชวนขนลุกไปตามๆกันสร้างความประทับใจให้กับฉันและชาวค่ายยิ่งนัก ฉันเชื่อว่านี่คือสัญญาณของความรักระหว่างชาวค่ายและชาวบ้านที่เราจะได้อยู่ร่วมกันกับท่านเป็นเวลา 7 วัน  พอถึงเวลาช่วงบ่ายๆ ก็มีการให้ทำความรู้จักกันระหว่างชาวค่ายกับชาวค่ายในกิจกรรม “เข้าฐานสานสัมพันธ์ฉันพี่น้อง” ทำให้ฉันและชาวค่ายได้รู้จักกันและสร้างมิตรภาพที่ดีต่อชาวค่ายด้วยกัน ฉันชอบกิจกรรมช่วงบ่ายนี้มาก เพราะทำให้รู้สึกว่า รู้จักฉันรู้จักเธอมากขึ้น ซึ่งแต่ก่อนเพื่อนที่เรียนในห้องเดียวกันยังไม่มีโอกาสได้พูดคุยกัน รู้ใจกันมากกว่าการได้มาทำกิจกรรมร่วมกันด้วยซ้ำ ฉันต้องขอบคุณกิจกรรมที่ทำให้ฉันเข้าใจคำว่า เพื่อนพ้องน้องพี่ มากยิ่งขึ้น พอตกเย็นหลังจากเรารับประทานอาหารเย็นเสร็จ ก็มีการให้ชาวค่ายได้ตั้งกฎค่ายร่วมกัน โดยการระดมความคิดเกี่ยวกับระเบียบวินัยและการใช้ชีวิตภายในค่าย ภายใต้กฎระเบียบที่ตั้งขึ้น กิจกรรมนี้ทำให้รู้ว่า กฎที่ตนเองตั้งจะต้องทำให้ได้ มิใช่ตั้งขึ้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หลังจากที่ตั้งกฎค่ายเสร็จเรียบร้อยก็มีการให้ชาวค่ายได้ถามตัวเองว่า "คุณมาค่ายนี้ คุณคาดหวังอะไร" จากที่ฉันได้ฟังความคาดหวังของชาวค่าย ก็คือ อยากมีเพื่อนใหม่ อยากหาประสบการณ์ อยากใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ อยากเรียนรู้ชุมชน เป็นต้น แต่มีความคาดหวังของชาวค่ายคนหนึ่ง เขาบอกว่า “ไม่คาดหวังอะไรเลย” ฉันจึงอดถามไม่ได้ว่า ทำไมถึงไม่คาดหวัง เขาจึงตอบด้วยความเต็มใจว่า “การมาค่ายไม่จำเป็นต้องคาดหวังอะไร เพียงแต่มาด้วยความตั้งใจที่อยากจะทำ ส่วนการคาดหวังนั้นเป็นเรื่องของอนาคต ควรจะเก็บเกี่ยวให้มากที่สุด เพียงเท่านี้ความคาดหวังก็เกินพอแล้ว” เมื่อเสร็จสิ้นจากกิจกรรมที่กล่าวมา ก็ได้มีการนัดเวลาในการทำกิจกรรมในวันต่อไปว่าจะทำอะไรบ้าง หลังจากนั้นทุกคนก็สวดมนต์ไหว้พระเข้านอน

เสียงเครื่องเสียงดังกังวานแว่วอยู่ในหู ชวนให้ตื่นขึ้นมา ตีห้าเศษกับการมาโยกย้าย ส่ายสะโพกโยกย้ายเต้นแอโรบิคเพื่อสุขภาพของชาวค่าย ชาวค่ายตื่นขึ้นมาพร้อมหน้าตาที่กำลังหลับใหลอยู่กับที่นอนแต่จะทำอย่างไรได้หล่ะ กฎที่ตั้งไว้ให้เต้นแอโรบิคทุกวัน ก็ต้องมาทำสิ หลังจากนั้นเวลา 7 โมงเช้า ทุกคนต้องมาพร้อมเพรียงเพื่อรับประทานอาหารเช้าด้วยกัน “ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้าง เป็นของมีค่า ผู้คนอดอยาก มีมากนักหนา สงสารบรรดาเด็กตาดำๆ” ในขณะที่ชาวค่ายกำลังมีความสุขกับการกินอยู่นั้น  เสียงระฆังดังกังวาล แม้ง แม้ง ได้เวลาที่นักเรียนเข้าแถวเคารพธงชาติแล้ว ชาวค่ายที่ห่างหายการเข้าแถวเคารพธงชาติก็เลยพากันวิ่งไปเข้าแถวร่วมกับน้องๆ เป็นภาพบรรยากาศที่เกินกว่าจะบรรยาย ในขณะนั้นเสียงร้องเพลงชาติไทยดังขึ้น “ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด  เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่    สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี  เถลิงประเทศชาติไทยทวี มีชัย ชโย”  มันทำให้ฉันอดนึกถึงตอนที่เรียนประถมไม่ได้ สภาพการแต่งตัว “อุ๊ยุ อ๊ะยะ” ของเด็กๆในโรงเรียนแห่งนี้ไม่ต่างจากที่ฉันเคยเป็นเด็กเลย สายตาของเด็กๆเหล่านั้นแลดูว่าเหมือนคาดหวังกับเราบางอย่าง และแล้ววันนี้กิจกรรมที่ให้ชาวค่ายทำก็คือ การได้รับบทเป็น “กรรมกรตัวน้อย” ปรับปรุงห้องน้ำ  อาคารเอนกประสงค์  ที่ดื่มน้ำที่ถูกสุขลักษณะ สภาพแวดล้อมโรงเรียนเป็นระยะเวลาสามวันที่จะต้องทำให้เสร็จ ต่างคนต่างก็พากันตั้งใจและทุ่มเทกับงานมาก ชาวค่ายบางคนก็บ่นว่าเหนื่อย ท้อ แต่สนุกดี บางคนก็บอกว่า จัดหนักไปเลย! ยิ่งมีอุปสรรคมากเท่าใด ยิ่งจะทำให้รู้ใจกันมากเท่านั้น ตลอดระยะเวลาสามวันที่รับหน้าที่เป็นกรรมกรตัวน้อย ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ประสบการณ์หาได้ไม่ยากหากทำเอง” ตอนนั้นชาวบ้านและเยาวชนต่างพากันมาร่วมกิจกรรมพัฒนาแบบนี้อย่างเต็มที่ จนกระทั่งครูในโรงเรียนได้มาเล่าให้ฟังว่า “ไม่เคยมีกิจกรรมแบบนี้มานานแล้ว นอกจากจะเป็นงานบุญหรืองานประเพณี ที่จะมีชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านมารายล้อมรวมกันแบบนี้” 
           ฉันรู้สึกภูมิใจมากเมื่อได้ยินคุณครูเล่าเช่นนั้น มันทำให้ฉันมีแรงผลักดันที่อยากจะทำแบบนี้อีก อย่างน้อยก็เป็นการสร้างความสามัคคีระหว่างชาวค่ายด้วยกัน และชาวค่ายกับชุมชนอีกด้วย
พอตกเย็นของแต่ละวัน ก็มักจะมีกิจกรรมที่แปลกๆมาให้เล่นสนุกสนานเสมอๆ ถือได้ว่าคลายความเหนื่อยจากการทำงานมาเลยทีเดียว อีกทั้งยังมีการให้แบ่งปันข้อความให้กำลังใจระหว่างชาวค่ายด้วยกันผ่านกระดาษเศษแผ่นเล็กๆและหยอดลงไปในตู้จดหมายที่แต่ละคนได้ออกแบบไว้ โดยใช้นามว่า “Facebook” การเล่นเฟสบุ๊คในค่ายอาจแตกต่างที่เคยเล่นผ่านโน๊ตบุ๊คในเรื่องลักษณะการใช้ แต่สิ่งที่ไม่แตกต่างกันนักคือ การเขียนความรู้สึกถามสารทุกข์สุกดิบให้กำลังใจชาวค่ายด้วยกัน นั่นคือเครื่องมือที่สร้างกำลังใจให้คนท้อได้มีกำลังใจมากยิ่งขึ้นและลืมวันที่อยากจะออกจากค่ายด้วยซ้ำไป นอกจากนี้แล้วยังมีสมุดกระจก ที่เป็นเครื่องมือสะท้อนตัวตน ในแบบฉบับของชาวค่ายทำกัน ชวนให้อดเขียนไม่ได้ เพราะชาวค่ายแต่ละคนมีเอกลักษณ์และความเป็นตัวตนไม่เหมือนใคร ในค่ำคืนแห่งความอบอุ่นของชาวค่ายและชาวบ้าน ก็มีกิจกรรมให้ระดมความคิดเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพและยาเสพติด มีการส่งเสริมให้ชุมชนเห็นความสำคัญของการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับความเชื่อของบั้งไฟพญานาคจากปราชญ์ชาวบ้าน และที่ขาดไม่ได้เลยของกิจกรรมแต่ละวัน คือการถอดบทเรียน กระบวนการทางความคิดว่าวันนี้เราได้อะไรบ้าง และการร้องเพลงค่ายที่แสดงถึงกลิ่นอายของชาวค่ายโดยแท้ “เราอาสาพัฒนา ใจเริงร่าและสามัคคี ล้วนตั้งจิตอุทิศชีวิตพลี ผูกไมตรีแด่พี่น้องผองไทย...”
เช้าวันใหม่ 14 มีนาคม วันนี้เป็นวันที่ให้ชาวค่ายได้ลงพื้นที่เรียนรู้วิถีชุมชนซึ่งจะแบ่งชาวค่ายออกเป็นกลุ่มๆ โดยมีการศึกษาการทำนา ณ บ้านหนองแคน ศึกษาวิธีการปลูกยางและกรีดยาง ณ บ้านดอนสนุก และศึกษาการทำเสื่อ  ณ บ้านหนองแคน โดยแบ่งเป็นกลุ่มๆซึ่งในการลงพื้นที่นั้นจะเป็นการเรียนรู้แก่นแท้ของชาวอีสาน แนวทางการดำเนินชีวิตแบบพอเพียงของชาวจังหวัดหนองคาย และเอกลักษณ์วัฒนธรรมประเพณีที่โดดเด่นของชาวจังหวัดหนองคาย นั่นคือ บุญพระเวส สิ่งที่ได้ในวันนี้เป็นการศึกษารากเหง้า แก่นแท้ของคนอีสาน โดยเฉพาะการทำนาที่เป็นอาชีพที่เลี้ยงคนอีสานตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน และเมื่อได้ความรู้จากการได้ลงพื้นที่จริงนั้น ชาวค่ายแต่ละกลุ่มก็ได้มาร่วมกันสรุปกิจกรรมที่ได้ไปเรียนรู้วิถีชุมชน พร้อมนำเสนอ  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากกลุ่มอื่น  ถือได้ว่าการลงพื้นที่เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนในแบบฉบับชาวค่าย และหลังจากนั้นชาวค่ายก็ได้ไปอยู่บ้านพ่อฮักแม่ฮัก และร่วมกินข้าวเย็นกับท่านในคืนนั้น ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนดังว่าฉันเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เพียงไม่กี่วันทำให้ฉันรู้สึกว่าเป็นลูกเป็นหลานที่รักกันมานาน ข้าวปลาอาหารอย่างดิบดีที่คอยต้อนรับลูกฮัก ฝนที่ตกอย่างหนัก พ่อฮักแม่ฮักก็ขันอาสามาส่งที่ค่ายด้วยความเต็มใจ ฉันไม่รู้จะขอบคุณพ่อฮักแม่ฮักอย่างไร ท่านดูแลฉันมากเหมือนเป็นลูกแท้ๆคนหนึ่ง ฉันรู้สึกอบอุ่นประทับใจและอดคิดถึงท่านไม่ได้เมื่อมองดูภาพถ่ายที่เคยถ่ายร่วมกัน ถือได้ว่ามันเป็นเรื่องราวที่ทรงพลังเรื่องหนึ่งที่ทำให้ใจของลูกฮักคนนี้รู้สึกผูกพันมาก ปากต่อปากเล่าขานระหว่างชาวค่ายด้วยกันว่า ไปบ้านแม่ฮักพ่อฮักได้อะไรมาบ้าง? แต่ละคนตอบว่า ได้กินนั่นกินนี่ แบบที่ต่างกันไป แต่สิ่งที่ไม่ต่างกันเลยคือความอบอุ่นที่พ่อฮักแม่ฮักมอบให้ในค่ำคืนแห่งความทรงจำที่ดี ขอบคุณเวลาที่ได้อยู่ร่วมกัน ขอบคุณค่ายสร้างคน คนสร้างค่าย ที่ให้รู้ว่า ความฮักเกิดจากสิ่งเล็กๆแต่ยิ่งใหญ่และทรงพลังเฉกเช่นลูกฮักและพ่อฮักแม่ฮัก

                    ค่ำคืนที่ 4 ของวันทำค่าย กิจกรรมวันนี้ต่างไปจากทุกวัน เพราะมีเพียงแต่ชาวค่ายเท่านั้นที่ร่วมกิจกรรม วันนั้นฉันรู้สึกได้ถึงความเหนื่อยล้าและอยากกลับบ้านของใครหลายๆคน อาจเป็นเพราะเหนื่อย งานหนัก ลำบาก หรืออาจเป็นเพราะฝนที่กำลังตกหนัก ชวนให้เหงาอย่างบอกไม่ถูกก็เป็นได้ ค่ำคืนนี้มีเพียงชาวค่ายและอ้อมกอดของสายฝนที่ตกโปรยปรายอย่างไม่ขาดสาย กิจกรรมก็ดำเนินไปตามปรกติ แต่ที่มีเพิ่มเข้ามาคือ “แสงเทียนส่องใจ” เป็นกิจกรรมที่ให้ชาวค่ายได้แสดงความรู้สึกและความประทับใจในการใช้ชีวิตเด็กค่าย ซึ่งลักษณะกิจกรรมจะมีการให้ชาวค่ายนั่งล้อมวงและจุดเทียนพร้อมแสดงความรู้สึก  หลังจากนั้นก็มีการร้องเพลงค่ายร่วมกัน บรรยากาศที่แสนจะเป็นใจให้โรแมนติก ชาวค่ายแต่ละคนแสดงความรู้สึกโดยถอดความเป็นตัวของตัวเองออกมา ทำให้รู้ใจกันมากยิ่งขึ้นจากชาวค่ายถึงชาวค่าย
“กว่าจะรู้ใจกัน มันก็นานแสนนาน                               กว่าจะมาเป็นเพื่อนกัน ต้องใช้เวลาเนิ่นนาน
อยู่กันมานานแสนนาน จากกันไปไกลแสนไกล          จดจำไว้ เพื่อนยังไม่ลืม
บน...เส้นทางยาวไกล                                                ร่วมฝ่าฟันไว้ ก้าวไปด้วยกัน
จำ...วันนั้นยังจำ                                                          เคยร่วมกันทำ ด้วยความมั่นใจ
สุขเราก็เคยร่วมเสพ เจ็บเราก็เคยร่วมเจ็บ                     จดจำไว้ ถึงวันเก่าเก่า...”

 น้ำตาของฉันที่ไหลเอ่อออกมาจากก้นบึ้งหัวใจไม่ใช่เกิดจากความเสียใจ แต่เกิดจากความประทับใจที่ชาวค่าย ณ หนองแคนดอนสนุกรักกัน บางครั้งการที่หลายๆคนจากชีวิตที่แตกต่างมาทำอะไรที่ดีๆร่วมกันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากหากทุกคนมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือ ความรัก ที่จะสร้างสังคมให้น่าอยู่ด้วยกัน ขอบคุณชาวค่ายทุกคนที่มีโอกาสได้อยู่ร่วมกันและเรียนรู้ไปด้วยกัน
                
          
                อีก 1 วัน สำหรับการทำค่าย วันนี้มีกิจกรรมที่ให้ชาวค่ายและชาวบ้านได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เป็นกิจกรรมที่ให้ชาวค่ายได้ร่วมกันประชาสัมพันธ์รณรงค์ป้องกันปัญหาการดื่มสุราและการสูบบุหรี่ให้กับชาวบ้านและเยาวชนในหมู่บ้าน โดยการเดินขบวนรอบหมู่บ้านเพื่อประชาสัมพันธ์ ลด ละเลิก บุหรี่และสุรา และสนับสนุนการเล่นกีฬาต้านยาเสพติด ชาวค่ายกับชาวบ้านได้เล่นกีฬาอย่างสนุกสนาน ในช่วงกลางคืนเป็นกิจกรรมที่ให้ชาวค่ายและชาวบ้านรวมทั้งเยาวชนในหมู่บ้านได้มีการแสดงพื้นบ้านต่างๆ ซึ่งสร้างความสนุกสนานส่งท้ายคืนสุดท้ายแห่งการทำค่ายมากเลยทีเดียว กิจกรรมรอบกองไฟในค่ำคืนนี้เริ่มขึ้นทันทีหลังภารกิจเกี่ยวกับอาหารมื้อค่ำได้เสร็จสิ้นลง ชาวบ้านต่างอุ้มลูกจูงหลานเดินทางมาร่วมกิจกรรมอย่างล้นหลาม เป็นค่ำคืนที่ไม่พบบ่อยนักที่ชาวบ้านจะออกมาปฏิสัมพันธ์กันดึกดื่นเช่นนี้ เว้นเสียแต่มีงานบุญหรืองานในวิถีของชุมชนเท่านั้น และก็ดูเหมือนว่ากิจกรรมรอบกองไฟของชาวค่ายจะกลายเป็นงานสำคัญของชาวบ้านไปแล้ว เปรียบเสมือนมโหรีของหมู่บ้านที่ถูกรังสรรค์จากชาวค่ายและชาวบ้าน นานทีปีหนที่ชาวบ้านหนองแคนดอนสนุกต้องเข้านอนอย่างดึกดื่นเฉกเช่นคืนนี้ เกือบเที่ยงคืนกิจกรรมรอบกองไฟยุติลง มีเพียงกองฟืนพอที่จะ จี่ข้าวกินได้ เพื่อนหญิงต่างพากันเข้านอนในห้องเรียนอันโทรมอับ ส่วนเพื่อนชายหลายคนนอนเสื่อผืน หมอนใบ ในห้องครัวและมีเพียงไม่กี่คนกลับเลือกที่จะอยู่เป็นเพื่อนฉันเขียนป้าย ใกล้ๆกองไฟที่เริ่มโรยแรง


                และแล้วก็มาถึงวันสิ้นสุดของการทำค่าย ฝนตกปรอยๆ ยามเช้า ฉันตื่นสายกว่าใครๆ เพราะบรรยากาศเป็นใจซะเหลือเกิน คุณครูท่านหนึ่งเดินมาปลุกฉัน วันนี้เป็นวันที่ต้องทำบุญตักบาตรฉลองอาคารเอนกประสงค์ที่ชาวค่ายได้ร่วมมือร่วมใจกันซ่อมแซมให้ดีขึ้น ฉันตื่นด้วยความอ่อนล้า แต่ต้องบังคับใจให้ตื่นเพื่อมาทำภารกิจให้เสร็จสิ้น หลังจากทำบุญเสร็จแล้วก็มีการอำลาชาวค่าย โดยมีการผูกข้อมือ บายศรีสู่ขวัญให้กับชาวค่าย และมีพิธีส่งมอบอาคารเอนกประสงค์  ห้องน้ำ  ที่ดื่มน้ำ หลังจากนั้นก็เป็นพิธีปิด การอำลาครั้งนี้ เป็นการอำลาที่ยังคงความคิดถึงกันไว้เหมือนเดิม “ก่อนจากกัน ฉันมาบอกลา ด้วยน้ำตาที่มันเอ่อล้นอยู่เต็มหัวใจ  อยากบอกเธอ บอกเธอด้วยใจ ว่ารักเราจะมีให้กันอย่างนี้เรื่อยไป แล้วเราจะมาพบกันใหม่ จะกลับมาร่วมทุกข์สุขกัน ให้เหมือนวันวาน...” ฮัก ณ หนองแคนดอนสนุก จะเก็บความทรงจำดีๆใส่กล่องหัวใจเอาไว้ ค่ายสร้างคน คนสร้างค่าย







                                        โดย  นางสาวสุจิตรา วิชาพูล 
                         คณะศึกษาศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษ ชั้นปีที่ 4 มมส.
                                                กลุ่มกอไผ่ (กลุ่มอิสระ)
                                               นามปากกา ดินสอแต้มผัน



ผจญภัยในต่างแดน ณ เลย

จากที่ได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่ในวันที่ 21 และ 22 มกรมคม 2555 ที่ผ่านมา เพื่อจะทำค่ายสร้างคน คนสร้างค่าย ครั้งที่ 3 ณ จังหวัดเลย ตลอดการเดินทางนั้น ความหลายหลายทางสิ่งแวดล้อม ภูเขามากมาย ดอกไม้หลากสีสัน วิถีชีวิตของคน ไทเลย ต่างทำให้ฉันอดนึกไม่ได้ว่า ค่ายครั้งนี้ คงเป็นอีกค่ายหนึ่งที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต และมีหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าค้นหาเสียเหลือเกิน ฉันได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณตาท่านหนึ่ง และคุณอาของเพื่อนฉัน ท่านได้แนะนำและเป็นมัคคุเทศน์เพื่อนำเราไปสู่จุดหมายที่ตั้งไว้ หากถามว่า การลงพื้นที่ชุมชนเพื่อทำค่ายนั้น ได้ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ ฉันขอตอบเลยว่า แน่นอนที่สุด ที่จะต้องมีการวางเป้าหมายไว้ว่า เราจะทำอะไร บริบททางสังคมของพื้นที่นั้นเป็นอย่างไร วิถีชีวิตเป็นอย่างไร และความกันดารที่หลายๆคนมักนึกถึงนั้น เป็นอย่างไร กันดารแบบไหนหล่ะ ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา โรงเรียนแห่งนั้นไม่มีห้องสมุด ไม่มีโรงอาหาร ไม่มีสนามกีฬา อย่างงั้นหรือ นั่นก็เป็นประเด็นที่ทำให้ฉันฉุกคิดอยู่ตลอดเวลา แต่ถึงอย่างไร การเดินทางครั้งนี้ คงเป็นการเดินทางที่แสนวิเศษแน่นอน "เอาใจนำพา เอาศรัทธานำทาง" คำกล่าวของพี่คนหนึ่ง ที่ปลุกอุดมการณ์ให้ฉันรักในกิจกรรม และรักการทำกิจกรรม แน่นอนคะ เกิดมาทั้งที...อยากทำอะไรให้เต็มที่กับชีวิตก่อนไม่มีเวลาจะทำ..ทำเท่าแรงที่มี...และทำให้ดีที่สุด คงเป็นคำกล่าวที่ดีที่สุดสำหรับฉัน



เริ่มเดินทางเข้าสู่ จังหวัดเลย ต่างคนต่างพากันอิดโรยกับระยะทางที่แสนไกล และถือโอกาสช่วงนี้เป็นช่วงที่จอดพักรถ ในปั้มน้ำมันแห่งหนึ่งก่อนจะเข้าอำเภอภูเรือ สายฝนที่ตกลงมาอย่างไม่ขาดสาย อากาศที่แสนจะหนาวเย็นและบรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่สวยงามรายล้อมด้วยภูเขา ทำให้ฉันตื่นเต้นมากที่จะได้เห็นพื้นที่โรงเรียนที่จะไปสำรวจ

รถคันนี้สีสัน...มิใช่สีส้ม...อิอิ จากที่เดินทางจากสารคาม มุ่งสู่เลยนั้น ความรวดเร็วทันใจของคนขับ คงเป็นอีกสีสันหนึ่งที่ทำให้ผู้โดยสารใจหายใจคว่ำ แต่ที่ลืมมิได้คือ ความปลอดภัยในการเดินทาง ทุกคนต่างลุ้นอย่างใจหายใจคว่ำว่า รถคันนี้จะพาเราไปสู่จุดหมายได้อย่างปลอดภัยหรือไม่...


ตลอดการเดินทางมุ่งสู่โรงเรียนบ้านกกสะตี ที่ตั้งเป้าหมายไว้ ตลอดเส้นทาง ฉันแลเห็นภูเขาที่มีความแตกต่างกัน บางลูกก็เขียวชอุ่มด้วยต้นไม้ใหญ่ บางลูกก็หัวโล้นจนดูไม่ได้เลย ภูเขาลูกนี้ ถือได้ว่ายังมีต้นไม้ที่พอจะให้เห็นอยู่บ้าง แต่บางลูกนะสิ ความเป็นไร่เลื่อนลอยและวิถีชีวิตของชาวไทยเลยเปลี่ยนไป การกว๊านซื้อที่ดินของนายทุนเพื่อทำรีสอร์ท บนภูเขา ระบบทุนนิยมเริ่มคืบคลานเข้ามาโดยตาสีตาสาไม่รู้ วิถีของคนในชนบทเริ่มเปลี่ยนไป การมีเอกลักษณ์ของคนอีสานกำลังจะหมดไปแล้ว หากคนอีสานยังให้ทุนนิยมมาคืบคลานเอาความเจริญทางวัตถุเข้ามา จนลืมไปว่า ทรัพย์สินทางชุมชนที่เป็นที่ดินอันแสนล้ำค่านี้ควรค่าแก่การรักษาไว้ให้ลูกหลานต่อไป...


เป็นเวลาเกือบครึ่งวันที่เดินทางตั้งแต่จังหวัดมหาสารคามมุ่งสู่โรงเรียนบ้านกกสะตี ตำบลวังยาว อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ถนนที่เดินทางไปนั้น แสนจะคดเคี้ยวเลี้ยวลด อีกทั้งลูกรังที่ไร้คนมาดูแล ยากแก่การขับขี่ยวดยานพาหนะเสียเหลือเกิน ภูเขาที่สลับซับซ้อน หมู่บ้านที่อยู่ในหุบเขา ฉันเห็นแล้ว เปลี่ยวจิตยิ่งนัก ไม่เชื่อเลยว่า ชาวบ้านมีวิถีชีวิตท่ามกลางภูเขาและไม่มีแม้แต่สิ่งอำนวยความสะดวกเลย วิถีของคนในชุมชนยังไม่เปลี่ยนแปลงเท่าไหร่นัก แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเจนคือ ภูเขาหัวโล้น! มีเพียงต้นยางพาราที่นายทุนกว้านซื้อเป็นแถบๆ และกำลังจะมีรีสอร์ทและระบบทุนนิยมเข้ามากลืนกินวิถีและวัฒนธรรมไทเลยในไม่ช้านี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น