Khonvaisai Club


ชมรมคนวัยใสใส่ใจสุขภาพ


...การเรียนสอนให้มีงานทำ กิจกรรมสอนให้ทำงานเป็น... 



        ก่อนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ฉันมีความมุ่งมั่นและรักในการทำกิจกรรมมากเป็นพิเศษ บางทีจนคิดว่า กิจกรรมเป็นหลัก เรียนเป็นรอง เสียด้วยซ้ำไป วินาทีแรกที่ย่างก้าวเข้ามา ทำให้ฉันชื่นชอบและหลงไหลกับสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ทั้งกิจกรรมรับน้องของทางมหาวิทยาลัย กิจกรรมรับน้องของคณะศึกษาศาสตร์ กิจกรรมของสาขาภาษาอังกฤษ จนมาวันหนึ่ง ฉันได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมกับทางมหาวิทยาลัยจัดขึ้น เป็นโครงการอบรมแกนนำป้องกันยาเสพติดในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม วันที่ 6-7 ก.ย.51 ณ บ้านดอนมัน ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม



                นอกจากนี้ยังมีโครงการการประชุมเชิงปฏิบัติการเวทีสาธารณะเพื่อสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยเด็กและเยาวชน รู้ทันเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันที่ 20 กันยายน 2551 ณ บ้านดอนมัน ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งทางชมรมคนวัยใสใส่ใจสุขภาพร่วมกับกองกิจการนิสิตได้จัดขึ้น

         

            นี่คือจุดเริ่มต้นของการได้เป็นนักกิจกรรมรุ่นเยาว์ที่มีความใฝ่ฝันต้องการทำกิจกรรมด้วยใจรัก นอกจากนี้แล้วในวันนั้นยังได้มีโอกาสไดรับเสื้อฟรี! คนต้นแบบเลิกเหล้าตลอดชีวิต และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนๆต่างคณะและแลกเปลี่ยนกับชาวบ้าน ดิฉันได้พบรุ่นพี่คนหนึ่งชื่อว่า พี่โฟน เรียนอยู่คณะสาธาณสุขศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 เขาเป็นคนสร้างแรงบันดาลใจและปลุกอุดมการณ์ให้รักและชื่นชอบในกิจกรรมเป็นอย่างมาก ฉันจึงได้ตอบตกลงทำกิจกรรมร่วมกับชมรมคนวัยใสใส่ใจสุขภาพ ซึ่งมีผองเพื่อนต่างคณะมาร่วมทำกิจกรรม






              นับจากวันนั้นฉันก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของชมรมคนวัยใสใส่ใจสุขภาพ ที่มีเพียงนิสิตสาขาภาษาอังกฤษเพียงคนเดียวที่เข้าร่วมชมรม ฉันทราบดีอยู่แล้วว่าทางสาขาภาษาอังกฤษก็มีชมรมประจำสาชาอยู่แล้วคือ ชมรมครูภาษาอังกฤษ แต่ด้วยฉันอาศัยอยู่ม.ใหม่ ในเวลานั้น จึงไม่สามารถมาเข้าร่วมกิจกรรมของชมรมครูภาษาอังกฤษที่มักจะประชุมอยู่ม.เก่าอยู่บ่อยๆ จึงทำให้ฉันละเว้นหน้าที่ที่พึงกระทำและกลับสนใจกิจกรรมแปลกใหม่ที่อยากจะลิ้มลองอรรถรสของคำว่าเด็กค่ายเต็มทน ฉันได้เข้าร่วมโครงการ ของชมรมคนวัยใสใส่ใจสุขภาพเป็นครั้งที่สอง คือ ค่ายสร้างสุข ณ บ้านหนองบัวตาคง ตำบลกู่ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ในวันที่ 15-22 มี.ค.2552 ตลอดระยะเวลา 7 วัน เป็นอีกรสชาติหนึ่งที่ทำให้รู้คุณค่าของคำว่า ปัญญาชน เพราะช่วงปิดเทอมนั้นฉันได้มีโอกาสไปออกค่ายและบำเพ็ญประโยชน์โดยการทาสีรั้วโรงเรียนและเรียนรู้วิถีชุมชนของคนอำเภอปรางค์กู่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการกินดิน ที่หลายคนต่างเล่าขานว่าเป็นหมู่บ้านที่ยากจนที่สุดในประเทศไทยจนได้กินดินแทนข้าว แต่เมื่อลงไปสัมผัสกลับทำให้รู้ว่า การกินดินคือการกินเพื่อรักษาโรคและไม่ได้เป็นเพราะยากจนจึงทำให้กินดินแต่เป็นเพียงการสืบสานและมีความเชื่อเช่นนั้นตามความเชื่อของคนในชุมชน นอกจากนี้แล้วยังได้สัมผัสกับบรรยากาศการรำผีฟ้า หรือชาวบ้านมักเรียกว่า "รำแกมมอ" คือการรำร้องและทำพิธีเพื่อรักษาคนป่วยให้หายป่วยโดยเร็ว เป็นพิธีกรรมในความเชื่อของคนในชุมชนนี้ เมื่อฉันได้สัมผัสและอยู่ในบรรยากาศนั้น ทำให้ขนลุกไปตามๆกันและเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์อย่างบอกไม่ถูก นอกจากนี้แล้วยังได้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจระหว่างชาวค่ายกับชาวค่าย และชาวค่ายกับชาวบ้านอีกด้วย การได้เป็นลูกฮักของพ่อฮักแม่ฮัก การได้อาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกันในต่างถิ่น เป็นสิ่งที่เกินกว่าจะบรรยายกับการได้มาซึ่งประสบการณ์ดีๆและมิตรภาพดีๆที่เกิดขึ้นในค่ายครั้งนี้




            หลังจากที่กลับมาจากค่ายอาสาครั้งนี้ ทำให้รู้ว่า การเป็นนิสิต เป็นสิ่งที่มีคุณค่าหากทำตัวมีคุณค่า ต่อจากนั้นมาฉันได้มีโอกาสพูดคุยกับรุ่นพี่ชมรม และเข้าไปทำงานชมรมในหน้าที่ของเลขานุการ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาการได้เป็นคณะกรรมการในชมรมคนวัยใสใส่ใจสุขภาพ จึงเป็นหน้าที่หลักที่ฉันต้องรับผิดชอบ ยิ่งการได้มีภารกิจและหน้าที่ในกิจกรรมแล้ว สำหรับการเรียนฉันก็มิได้เคยบกพร่องแต่อย่างไร และแล้วค่ายแรกที่ได้มีโอกาสได้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ คือ ค่ายคนวัยใสสัญจร ครั้งที่ 2 พร้อมเรียนรู้สู่ชนบท ณ จังหวัดอุดรธานี เป็นค่ายที่มีลักษณะเน้นความสัมพันธ์ในชุมชนและเรียนรู้วิถีชุมชนเป็นหลัก ซึ่งการเรียนรู้ครั้งนี้คือการเรียนรู้อาชีพของชาวจังหวัดอุดรในพื้นที่นั้นเกี่ยวกับวิธีการหาปลา การจักสานและการปลูกอ้อย ถือว่าเป็นค่ายที่มีการจัดการที่เรียบง่าย ซึ่งเป็นค่ายที่ฉันได้ฝึกการทำงานเป็นทีมและรู้จักเข้าใจกับเพื่อนร่วมทีม



              เมื่อฉันเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 ฉันก็ยังได้รับหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการอีกครั้ง แต่สำหรับค่ายครั้งนี้ถือว่าเป็นค่ายใหญ่ที่ต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบและเป็นระบบ ฉันและผองเพื่อนได้ร่วมกันหางบประมาณเพื่อช่วยสร้างโรงอาหารให้กับโรงเรียนบ้านขาทราบมะเขือสามัคคี ตำบลพระเสาร์ อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ฉันและผองเพื่อนจึงได้จัดทำโครงการ ค่ายคนวัยใสสัญจร ครั้งที่ 5 สร้าง นำ ซ่อม พร้อมเรียนรู้สู่ชนบท โดยจัดขึ้นในวันที่ 11-17 มีนาคม 2553 ซึ่งค่ายนี้เป็นค่ายลักษณะเชิงบูรณาการ คือมีการสร้างวัตถุเพิ่มเติม และซ่อมแซมส่วนที่ขาดเหลือของชุมชน นอกจากนี้แล้วยังเป็นการสร้างกิจกรรมเรียนรู้วิถีชุมชนอีกด้วย ซึ่งการทำกิจกรรมในครั้งนี้ ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเพณีบุญบั้งไฟ การทำบั้งไฟ ความเชื่อเรื่องการแตกบ้าน (การอพยพคนในชุใชนออกจากหมู่บ้านในวันดังกล่าว พวกเขาเชื่อว่าหากออกไปจากหมู่บ้านในวันนี้ แล้วกลับเข้ามาใหม่หลังจากเวลาห้าโมงเย็น จะทำให้ชีวิตมีความสุข)

              นอกจากนี้ยังได้ทำหน้าที่ของ ผู้มีจิตอาสา อีกด้วย กล่าวคือ ได้ทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและส่วนรวมด้วยความเต็มใจ สำหรับฉันแล้ว การทาสีคงเป็นเรื่องง่ายมาก เพราะเกือบทุกค่ายที่ผ่านมา คงจะไม่มีกิจกรรมใดที่ไม่ได้ทาสีเลย วันนั้นฉันได้ทาสีรั้วโรงเรียนและลำเลียงถังหินและถังทรายเพื่อเตรียมการในการเทพื้นปูนโรงอาหาร บรรยากาศในวันนั้น ต่างคนต่างพากันสนุกสนานและเต็มใจในการทำกิจกรรมที่ตนเองรักด้วยความร่างเริงและเบิกบาน ฉันไม่เชื่อเลยว่า นิสิตที่ต่างคณะ ต่างสาขา ต่างจังหวัด ต่างพ่อต่างแม่ ต่างมาพบกันในค่ายที่สอนคนให้เข้าใจคน เป็นสิ่งที่ดีมาก ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือที่สานมัมพันธ์และมิตรภาพที่ดีต่อกันและรู้คุณค่าของคำว่า ปัญญาชน มากขึ้นเรื่อยๆ





                เรื่องราวที่เอ่ยมานี้ เป็นเพียงเสี้ยงหนึ่งของการได้ทำกิจกรรมในชมรมคนวัยใสใส่ใจสุขภาพที่เกี่ยวกับค่าย แต่ยังมีอีกหลายๆกิจกรรมที่ฉันได้เข้าร่วมทำกับผองเพื่อนมาโดยตลอด เช่น กิจกรรมชาว มมส. ตุ้มโฮม เบิ่งแงง ฮักแพงกันไว้ห่างไกลยาสูบ ดังวิดีโอ ต่อไปนี้






การได้เป็นนักจัดรายวิทยุ คลื่น MSU Radio 102.75 Mhz. ในนามของชมรมคนวัยใสใส่ใจสุขภาพ ภายใต้ชื่อรายการ วิทยุคนวัยใสฯ ซึ่งลักษณะรายการนั้นจะนำเสนอเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพและปัญหาสังคม ทั้งแนะนำวิธีการแก้ปัญหา เช่น ปัญหาการดื่มสุรา ปัญหาการสูบบุหรี่ เป็นต้น


การได้ลงพื้นที่สำรวจผู้ประสบอุทกภัย 
ในพื้นที่ใกล้เคียง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เขตพื้นที่ขามเรียง



 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น